วีดีโอ

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

ความรู้เกี่ยวกับการถวายสังฆทาน

ในช่วงเทศกาลสำคัญทางศาสนาพุทธ   หรือ  ในโอกาสสำคัญ  ๆ  เช่นวันเกิด  วันครบรอบเหตุการณ์สำคัญในชีวิต    พุทธศาสนิกชนมักนิยมทำบุญ  ทำทานกัน   เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัว มีการทำทานแบบหนึ่ง   ที่พุทธศาสนิกชนหลายท่าน  อาจยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง  เราหลายคน  อาจเคยชินกับการหาของมาถวายสังฆทาน  โดยเลือกซื้อแบบจัดเป็นชุด ตามร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์หรือเลือกซื้อในซุปเปอร์มาร์เก็ต
เมื่อได้อ่านความรู้เกี่ยวกับการทำสังฆทาน  จาก เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  และ เว็บไซต์อกาลิโก ดอท คอม   เห็นว่ามีประโยชน์จึงบันทึกย่อไว้เพื่ออ่าน  และเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ดีเมื่อมีโอกาสทำสังฆทาน


การถวายสังฆทาน
           สังฆทาน คือ ทานที่อุทิศแก่พระสงฆ์ มิได้เจาะจงบุคคล การถวายสังฆทานหมายถึงการจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์ไม่เกี่ยวกับการถวายทานวัตถุอื่นๆ ครั้งพุทธกาลปรากฏว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ตอนหนึ่งว่า การถวายสังฆทานคือการขอต่อพระสงฆ์ให้ส่งภิกษุไปรับของถวาย ผู้ถวายสังฆทานต้องตั้งใจว่าถวายต่อพระอริยสงฆ์ ไม่ว่าผู้รับจะเป็นภิกษุรูปใดก็ตาม ถือว่าอุทิศถวายเป็นของสงฆ์
           ในปัจจุบันนี้นิยมทำเป็น ๒ อย่างคือถวายแก่หมู่ภิกษุอย่างหนึ่ง ถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ที่สงฆ์จัดให้อีกอย่างหนึ่ง ในการถวายสังฆทานดังกล่าว นิยมตั้งพระพุทธรูปเป็นประธานซึ่งอนุโลมเข้าในประเภทถวายแก่สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขและทานวัตถุที่จะถวายเป็นสังฆทานมีภัตตาหารเป้นหลัก นอกจากนั้นจะมีของเป็นบริวารอื่นๆ อีกตามสมควร หรือจะไม่มีเลยก็ได้

วิธีปฏิบัติ          
เมื่อตั้งใจจะถวายสังฆทาน พึงเตรียมภัตตาหารใส่ภาชนะให้เรียบร้อย จะถวายกี่รูปก็ได้ตามศรัทธา การนิมนต์พระสงฆ์นิยมกัน ๒ วิธี คือ

วิธีแรก
นิมนต์พระที่ออกบิณฑบาตในตอนเช้าผู้มาถึงเฉพาะหน้าในขณะนั้นให้ครบตามจำนวนที่ต้องการ
   
วิธีที่สอง
สถานที่ถวายถ้าเป็นในบ้านควรจัดห้องใดห้องหนึ่งที่เรียบร้อย ถ้ามีพระพุทธรูป ควรตั้งที่บูชาด้วยพอสมควร เมื่อพระสงฆ์ที่นิมนต์โดยวิธีใดวิธีหนึ่งมาพร้อมแล้ว นำภัตตาหารที่จัดเตรียมไว้มาตั้งตรงหน้าพระสงฆ์ อาราธนาศีล แล้วรับศีล ต่อจากนั้นกล่าวนโม ๓ จบ พร้อมกันแล้วจึงกล่าวคำถวายสังฆทาน ถ้าถวายรวมกันหลายคน ให้ผู้เป็นหัวหน้ากล่าวนำเป็นวรรคๆ ผู้อื่นกล่าวตามทั้งคำบาลีและคำแปล เมื่อจบคำถวายแล้วภิกษุทั้งนั้นรับ “สาธุ” พร้อมกัน

คำถวายสังฆทาน (ประเภทสามัญ)คำบาลี          
อิมานิ มยํ ภนเต, สปริวารานิ, สงฆสส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนเต. สงโฆ, อิมานิ , ภตตานิ, สปริวารานิ, ปฎิคคณหาตุ,อมหากํ, ทีฆรตตํ, หิตาย, สุขาย.

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์ จงรับภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญฯ 
คำถวายสังฆทาน (ประเภทมตกภัต อุทิศให้ผู้ตาย )

คำบาลี          
อิมานิ มยํ ภนเต, มตกภตตานิ, สปริวารานิ, สงฆสส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนเต. สงโฆ, อิมานิ , มตกภตตานิ, สปริวารานิ, ปฎิคคณหาตุ, อมหากญเจว, มาตาปิตุอาทีนญจ ญาตกานํ, กาลกตานํ ทีฆรตตํ, หิตาย, สุขาย. 

คำแปล          
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย มตกภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์ จงรับมตกภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลาย มีบิดามารดา เป็นต้น ผู้ทำกาละล่วงไปแล้วด้วย สิ้นกาลนาน เทอญฯ


การถวายสังฆทานอย่างถูกวิธี
“ สังฆทาน คือ การถวายสิ่งของแก่หมู่พระภิกษุสงฆ์ เป็นการถวายกลางๆ ไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปหนึ่งรูปใด เมื่อถวายให้แล้วก็ถือว่าพระภิกษุสงฆ์ทุกรูปมีสิทธิ์ใช้สอยสิ่งของเหล่านั้นตามสะดวก อาจจะมีเพียงตัวแทนสงฆ์เพียงรูปเดียวมารับประเคน ก็ถือว่าเป็นสังฆทานเหมือนกัน

มีทานอีกรูปแบบหนึ่งที่คล้ายๆสังฆทาน เป็นทานที่มีอาณาเขตกว้างขวางกว่า คือ ทานที่ให้แก่หมู่พวกที่ไม่เฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เรียก สาธารณทาน เป็นทานที่ไม่จำกัดเฉพาะในรั้ววัด เป็นการให้ที่ไม่มีขอบเขต สังฆทานเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณทานเช่นกัน

ส่วนการถวายทานที่ให้เฉพาะพระภิกษุสงฆ์รูปนั้นรูปนี้ เรียก ปาฏิปุคคลิกทาน มีอานิสงส์น้อยกว่าทานสองประเภทข้างต้น เพราะเป็นการจำกัดเฉพาะบุคคลว่าต้องเป็นคนนั้นคนนี้ การให้ทานแก่ส่วนรวมย่อมได้อานิสงส์มากกว่า  


            ของที่จะถวายหมู่พระสงฆ์โดยไม่เจาะจงที่เรียกว่า สังฆทาน นั้น คือ  สิ่งของอะไรก็ได้ที่เหมาะกับชีวิตสมณะ
 
ถวายสังฆทานอย่างไรให้ได้บุญ


สังฆทานที่ดีไม่จำเป็นต้องมีของถวายมากมาย ขอเพียงเป็นของจำเป็นและมีคุณภาพ   ในการจัดสังฆทานให้ได้ประโยชน์   ควรจัดข้าวของเครื่องใช้ดังต่อไปนี้
- สบู่   
- ยาสีฟัน
- แปรงสีฟัน   ควรเลือกชนิดขนแปรงอ่อน ๆ 
- ยาสระผม   ใช้เวลาโกนศีรษะจะได้โกนได้ง่ายขึ้น
- ใบมีดโกน   เป็นของจำเป็นมาก เพื่อใช้โกนศีรษะ
- เครื่องดื่มสมุนไพร พร้อมชง ขิงผง ชารางจืด มะตูม เดี๋ยวนี้   ควรดูวันหมดอายุก่อนซื้อด้วย
- ผ้าอาบน้ำฝน   เนื้อหนา ๆ   หรือ  เลือกซื้อเป็นสบง (ผ้านุ่ง)   อังสะ ซึ่งมักจะขาดแคลน  ถ้าถวายให้สามเณรก็จัดเหมือนพระเช่นกัน  ถวายสังฆทานแม่ชี ก็เปลี่ยนจากผ้าเหลืองเป็นชุดแม่ชี  ซึ่งหาซื้อได้จากวัดบวรนิเวศ หรือที่ สถาบันแม่ชีไทย หากหาซื้อไม่ได้ก็เปลี่ยนเป็นผ้าขาวเนื้อดีตามร้านขนาด ๒ - ๔ เมตรแทน จากนั้นแม่ชีท่านจะนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อ ผ้าถุง ผ้าครอง ตามสมควร
- หนังสือธรรมะ หนังสือเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ หรือหนังสือความรู้ต่างๆ ที่คิดว่าพระสงฆ์ควรรับรู้เพื่อนำไปบอกกล่าวแก่ญาติโยมได้
- ยาสมุนไพรต่างๆ รวมทั้งยาแผนปัจจุบัน
- เครื่องเขียน สมุด ปากกา ดินสอ  รวมทั้งซองจดหมาย แสตมป์
- ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย  ตามวัดชนบทและวัดป่าเป็นสิ่งจำเป็นมาก
- จาน ชาม ช้อน ส้อม  อาจสอบถามจากวัดดูก่อนว่าวัดนั้น ๆ  ต้องการจำนวนมากหรือไม่ จะได้จัดเป็นชุดใหญ่ถวายเป็นของสงฆ์ เพื่อให้ชาวบ้านหยิบยืมได้ด้วยในงานบุญประเพณีต่างๆ รวมทั้งเครื่องมืองานช่างต่างๆ เช่น ค้อน ตะปู ไขควง หรืองานเกษตร เช่น จอบ เสียม พลั่ว และงานทำความสะอาด เช่น ไม้กวาดอ่อน ไม้กวาดแข็ง ถังขยะ ที่ตักผง ฯลฯ
ของอื่นๆ ที่มักนิยมใส่ก็มี ข้าวสาร หัวหอม กระเทียม น้ำมันพืช ที่จัดว่าเป็นของแห้งเก็บไว้ได้นาน ของเหล่านี้ถ้าพระ ท่านใช้ไม่ทันท่านก็มักจะเก็บรวบรวมนำไปบริจาคต่างจังหวัดอีกที นับเป็นวงจรบุญไม่มีที่สิ้นสุด จัดเรียงข้าวของที่ซื้อมาลงในภาชนะ ซักผ้าที่ซื้อมาต่างหาก อาจจะเป็นถังหรือกะละมังก็ได้ แล้วนำไปถวายได้ทันที

ของที่ควรลดละเลิกในสังฆภัณฑ์

ข้าวของบางอย่างที่ควรหลีกเลี่ยงไม่นำมาประกอบเป็นสังฆทาน
- บุหรี่ ยาเสพติด เครื่องดื่มชูกำลังทุกประเภท
- ผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุด้วยโฟม เพื่อหลีกเลี่ยงมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม
- อาหารกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง เพราะเป็นอาหารที่มีสารกันบูด สารเคมี ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ใส่เป็นผลไม้สดจะดีกว่า ถ้าในวัดมีครัวอาจซื้อผักสดเข้าครัวก็ได้
- ใบชาคุณภาพต่ำ พระไม่ค่อยได้ชงฉัน ควรเปลี่ยนเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ให้ประโยชน์กับสุขภาพมากกว่า
- กล่องสบู่ ปรกติพระท่านมีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องซื้อถวายอีก
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารบิณฑบาตในตอนเช้าเป็นอาหารสด และมีคุณค่ากว่า ไม่ควรส่งเสริมให้ท่านฉันอาหารที่มีคุณค่าน้อย
- น้ำอัดลม น้ำที่ผ่านการปรุงแต่งใส่สี


ทำบุญเสร็จแล้วอย่าลืมกรวดน้ำแผ่ส่วนบุญให้พ่อแม่ และอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรด้วยนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น